อาหาร ชีวิต ความรัก อารี(ย์)
อาหาร ชีวิต ความรัก อารี(ย์)
#คาเฟ่อารีย์ #คาเฟ่เปิดใหม่อารีย์ สารพัดแฮชแท็กในโลกโซเชียลบอกกับเราว่า อารีย์เป็นที่รู้จักของผู้คนยุคนี้ในฐานะแหล่งที่กินดื่มแฮงก์เอาท์ของผู้คน นั่นก็เพราะมั่นใจได้ว่า ไม่ใช่แค่อาหารรสชาติดี แต่ยังเป็นบรรยากาศของสถานที่ที่พร้อมให้ผู้คนดื่มด่ำไปพร้อมกันด้วย
สิ่งที่ทำให้ร้านอาหารหรือคาเฟ่ในย่านอารีย์โดดเด่นกว่าย่านอื่นๆ นอกจากร้านรวงที่มากับคอนเซ็ปต์และความคิดสร้างสรรค์แล้ว ยังเป็นเรื่องความหลากหลายของอาหารให้เลือกสรรจนครองใจผู้คนยาวนานมาตลอด จากรุ่นสู่รุ่น ในบรรยากาศอบอุ่นสไตล์เพื่อนบ้านของย่าน ตั้งแต่ร้านอาหารตำนานต้นตำรับหลายชั่วอายุคน คาเฟ่ที่สวยทั้งรูปสวยทั้งอาหาร ร้านอาหารที่อวดฝีมือเชฟเบอร์ใหญ่ ไปจนถึงอาหารสบายๆ สำหรับสังสรรค์หลังเลิกงาน เรียกว่าถ้าหิว เสิร์ชหาอารีย์ก็ไม่มีผิดหวัง
เราจะพาคุณเดินทางท่องทั่วไปในย่านอารีย์ เพื่อค้นพบความหมายของ Soul Food ในแบบ Soul of Ari ไปด้วยกัน
ร้านอาหารที่เป็นเหมือนไทม์แมทชีนแห่งอารีย์
ความเป็นย่านอยู่อาศัยเก่าแก่ที่คงอยู่ยาวนานถึงปัจจุบันของอารีย์ที่ยังคงกลิ่นอายของวันเวลาเก่าๆ วิถีทางอาหารจึงสัมพันธ์กับความเป็นอยู่ของผู้คนมาอย่างยาวนาน หลายร้านสืบทอดยาวนานหลายชั่วอายุคนในกลิ่นอายของบรรยากาศภายในร้าน และอาหารที่ยังทำให้ลูกค้าประจำอุ่นใจ และลูกค้าใหม่ก็มีความสุข
ร้านอาหารสไตล์สวนอาหารแบบที่เราคุ้นเคยกันตั้งแต่ยังเด็กอย่างภัตตาคารสวนกุหลาบ หรือบ้านพึงชม ยังคงมนต์เสน่ห์ที่ส่งต่อมายังยุคปัจจุบันอย่างไม่มีเสื่อมคลาย การันตีด้วยเครื่องหมายเชลล์ชวนชิม สัญลักษณ์แห่งความอร่อยในยุคก่อนหน้าที่บอกกับเราว่า ร้านเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงการสืบทอดสูตรอาหารรสเลิศจากยุคก่อน แต่ยังเป็นจดหมายเหตุของยุคสมัยของอาหารการกินที่แม้กาลเวลาจะเปลี่ยนไป แต่อาหารของใจก็ยังอยู่กับพวกเราจนถึงทุกวันนี้
จากร้านอาหารในวันพิเศษของครอบครัว มาสู่ร้านอาหารในวันธรรมดาของทุกคน หลายร้านสืบทอดต่อความอร่อยในที่ตั้งเดิมจากรุ่นสู่รุ่น แม้เมนูอาหารจะเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามสมัยนิยม แต่เราก็ยังคว้าเก้าอี้กลมแล้วเอ่ยปากสั่งเมนูที่ไว้ใจได้ว่าอร่อยเหมือนเดิมแน่นอน อย่างร้านเปี๊ยก ผัดไทย หัวมุมซอยอารีย์ 2, ร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาที่อยู่ถัดมาจากร้านผัดไทยก่อนหน้า, ก๋วยเตี๋ยวเนื้อรสเด็ดปากซอยราชครู, ครัวไทยบางมะกอก ซอยอารีย์สัมพันธ์ 5, ร้านเลิศรส ไก่ย่าง ตรงข้ามกระทรวงการคลัง จนข้ามฝั่งมาประดิพัทธ์กับราดหน้าประดิพัทธ์ และโง้วกุ่ยกี่ หรือของหวานอย่างร้านมะลิวัลย์ขนมไทย ซอยอารีย์ 1 เราแนะนำให้ลงเดินตามซอยดู รับรองว่าจะมีร้านเก่าแก่ที่การันตีด้วยรางวัลเชลล์ชวนชิมซ่อนอยู่เป็นระยะๆ
อีกสิ่งหนึ่งที่คนคิดถึงเมื่อพูดถึงย่านอารีย์-ประดิพัทธ์-สะพานควาย คือการเป็นชุมทางที่พักชั่วคราวสำหรับชาวต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในเมืองหลวง โรงแรมเอลิซาเบธ โรงแรมประดิพัทธ์ และโรงแรมมิโด ยังคงยืนหยัดให้บริการที่พัก พร้อมกับเป็นห้องอาหารที่เปิดให้คนทั่วไปเข้ามาลิ้มลองรสชาติในบรรยากาศวินเทจที่อยู่กับผู้คนเสมอมา ตั้งแต่เมนูเด็ดอย่างราดหน้าเส้นกรอบของโรงแรมเอลิซาเบธ ไปจนถึงการเปิดฟลอร์คาราโอเกะหลังเลิกงานที่ห้องอาหารชำมะเลียงที่ชั้นล่างโรงแรมมิโด ที่เราบอกเลยว่ากินที่ร้านอร่อยกว่าเพราะว่าได้กินบรรยากาศไปด้วย
ร้านอาหารที่เชื่อมสัมพันธ์ของชุมชน
อารีย์เป็นพื้นที่ของผู้คนที่มีความเคลื่อนไหวตลอดทั้งวัน คนอยู่อาศัย สาวออฟฟิศ นักเที่ยว ร้านเหล่านี้นอกจากมอบอาหารที่อิ่มท้องให้กับผู้คนแล้ว ยังมอบบรรยากาศของความเอื้ออารีในแบบเพื่อนบ้านหรือคนคุ้นเคย ไปเยือนทีไรก็มั่นใจว่าต้องคุยสนุกแน่ๆ กลิ่นอายเช่นนี้เป็นเสน่ห์ที่เริ่มหาได้ยากแล้วในสังคมเมือง
ตลอดสองข้างทางตั้งแต่สนามเป้า อารีย์ ประดิพัทธ์ สะพานควาย ปฏิเสธเลยไม่ได้ว่าการเดินเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตของย่านไปแล้ว เพราะรายล้อมไปด้วยร้านอาหาร ร้านของชำ และสตรีทฟู้ดให้เลือกจับจ่ายแบบทุกมื้อไม่มีซ้ำ
เริ่มวันตั้งแต่การจับจ่ายของสดยามเช้าที่ร้านผักผลไม้สามพี่น้อง ปากซอยอารีย์ อิ่มท้องมื้อเที่ยงกับอาหารมังสวิรัติขึ้นชื่อที่ร้านบ้านสวนไผ่ อารีย์ซอย 1 หรือรสชาติอาหารคุ้นลิ้นแบบชาวไทยของร้านแชมบาล่า ส้มตำ ระหว่างซอยอารีย์ 2-3 แต่ถ้าอยู่ฝั่งพหลโยธินซอยเลขคู่ ร้านส้มตำเหนือ ซอยสายลม ก็เหมือนได้ต้อนรับสู่ภาคเหนือผ่านรสชาติอาหารพื้นถิ่นขนานแท้ อิ่มของคาว ชวนล้างปากด้วยของหวานในตำนานอย่างร้านข้าวเหนียวมูนแม่หนูน้อย ตำนานที่อยู่คู่กับสะพานควายมากว่า 40 ปี
ส่วนมื้อเย็นก็มีให้เลือกหลากหลายทั้งสตรีทฟู้ดที่มีตลอดแนวถนน หรือจะเป็นร้านอาหารนั่งกินให้เลือกในราคาเป็นกันเอง อย่างร้านเจ๊เลี๊ยบ สนามเป้า อาหารทะเลสดๆ กับน้ำจิ้มรสเด็ด, เบอร์เกอร์นั่งชิลแต่เต็มอิ่มรสชาติที่ร้าน Barney’s Burger ในซอยข้างธนาคารกรุงเทพ สาขาซอยอารี, ร้านปลาดิบ ปากซอยอารีย์สัมพันธ์ 7 ร้านอาหารญี่ปุ่นสไตล์ฟิวชั่นร้านแรกที่เปิดมุมมองย่านอารีย์ในแบบเท่ๆ มาเกือบยี่สิบปี, เปิดตำนานอาหารอิซะกะยะเจ้าแรกของอารีย์ที่ Ryoma Izakaya ตรงข้ามกระทรวงการคลัง, ปิ้งย่างแบบไทยก็มีอารียาหมูกระทะ ที่อารีย์ซอย 4 หรือยาวๆ ไปถึงดึกที่แซ่บเบิ้ม by ยโสธรลาบเป็ด ที่ซอยประดิพัทธ์ 4 รับรองว่ามีความสุขและเสียงหัวเราะไปตลอดทั้งคืน
นอกจากร้านอาหารแล้ว ย่านอารีย์ยังมีหลายร้านที่ใช้อาณาบริเวณเป็นพื้นที่แห่งการรวมตัวในการทำกิจกรรมของผู้คน โดยมีทั้งกิจกรรมและอาหารเครื่องดื่มเป็นสื่อกลางเสมอมา อย่าง The Yard Hostel ซอยราชครู ซึ่งภายในเป็นที่ตั้งของร้านอาหาร ทั้ง Paper Butter and The Burger กับเบอร์เกอร์ชิ้นใหญ่, PM Café คาเฟ่มังสวิรัติสำหรับคนรักสุขภาพ และ Farmer’s Bar ร้านชำกับวัตถุดิบสดใหม่ที่มารวมตัวกันในร้านเดียว หรือข้ามฟากถนนในซอยราชครูมายัง FEAST โรงอาหารของย่านที่มาพร้อมกับกิจกรรมเวิร์คช็อปหลากหลายที่แวะเวียนมาชวนคนอารีย์สนุกและอร่อยในเวลาเดียวกัน
ร้านอาหารที่กำเนิดจากอารีย์ สู่สาขาความอร่อยทั่วกรุง
เวลาพาผันผ่านให้อารีย์เป็นย่านแห่งอาหารการกิน ใครจะรู้ว่าหลายร้านที่ตอนนี้มีชื่อเสียงโด่งดัง เปิดสาขาไปทั่วกรุงเทพฯ จะมีที่มาจากอารีย์ ทำไมจึงเริ่มต้นเปิดสาขาแรกที่อารีย์? แล้วที่อารีย์สร้างศักยภาพอะไรให้จนทำให้กลายเป็นร้านขยายกิจการไปได้ไกล ลองมาดูกัน
เริ่มต้นที่ร้านอาหารอย่างร้านอองตอง ซอยอารีย์ ร้านอาหารเหนือจากเชียงใหม่ร้านนี้เลือกมาตั้งสาขาแรกในกรุงเทพฯ ที่ซอยอารีย์ ด้วยเหตุผลในเรื่องที่ตั้งซึ่งเป็นย่านที่มีกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย ทั้งหนุ่มสาวออฟฟิศ และนักท่องเที่ยวจากต่างย่าน ด้วยความโดดเด่นที่อาหารรสชาติดั้งเดิมแบบเชียงใหม่แท้ ดีไซน์ของตัวร้านที่ตามทันยุคสมัย รวมทั้งคุณภาพของอาหารและบริการจนได้รับการันตีโดยมิชลิน จากความแข็งแรงทั้งหมดทำให้อองตองขยายสาขาและเพิ่มไลน์ธุรกิจอาหารใหม่อย่างอองเตี๋ยวในละแวกใกล้เคียง จนเรียกว่าปากซอยอารีย์เป็นถิ่นของอองตองไปแล้ว
จบจากของคาวมาต่อของหวานที่ทองย้อยคาเฟ่ ร้านขนมไทยร่วมสมัยที่ดึงเอาความเป็นแฟชั่น ความสนุกสนานในแบบคนไทย และรสชาติเข้มข้นของขนมไทย มาผสมผสานกันจนกลายเป็นขนมไทยทั้งแบบดั้งเดิมและประยุกต์ ที่เสิร์ฟพร้อมเครื่องดื่มหลากหลาย ทองย้อยคาเฟ่เริ่มต้นที่อารีย์สัมพันธ์จากการเป็นผู้อยู่อาศัยในย่าน เดิมทีทองย้อยเป็นแบรนด์เสื้อผ้าที่โดดเด่นด้วยสีสันสดใส ลวดลายเฉพาะตัว และแพทเทิร์นที่สวมใส่ง่ายกับทุกวัย จึงต่อยอดคาแร็กเตอร์มาเป็นคาเฟ่ ด้วยการแปลความเป็นงานตกแต่งแบบกล้าคิด กล้าสนุก ด้วยดอกไม้สีสันผลิบานทั่วร้านที่กลายเป็นซิกเนเจอร์ จนปัจจุบันเติบโตและย้ายมายังร้านแห่งใหม่ที่ใหญ่กว่าในซอยอารีย์ 4 ฝั่งเหนือ พร้อมกับการขยายสาขาในห้างสรรพสินค้าชั้นนำในกรุงเทพฯ
ของหวานอีกร้านที่ได้ชื่อว่าเป็นของดีอารีย์คือ คินุโดนัท จากคิออสริมถนน ตรงข้ามซอยอารีย์ 3 มาสู่ร้านใหม่ที่ใหญ่ขึ้นในซอยอารีย์ 5 และขยายสาขาไปทั้งเยาวราช และสุขุมวิท โดนัทเนื้อนุ่ม หวานน้อย อร่อยมาก จับคู่กับกาแฟก็ได้อรรถรสอีกระดับ จากวัตถุดิบระดับพรีเมี่ยมที่คัดสรรมาอย่างดี และสูตรแป้งที่ลองผิดลองถูกมาเองจนลงตัว ทั้งหมดรวมเป็นรสสัมผัสเฉพาะที่มีแค่คินุเท่านั้นที่ทำให้ได้ ทั้งหมดนี้คือเคล็ดลับความสำเร็จของคินุโดนัทที่สร้างชื่อเสียงโด่งดังไกลจนหลายคนต้องตามมาชิม รวมทั้งหลายคนก็ติดใจจนเป็นลูกค้าเจ้าประจำไปแล้วเรียบร้อย
ร้านอาหารที่ใส่เรื่องราวของอารีย์
เพราะอารีย์ไม่เคยหลับใหลมาจากรุ่นสู่รุ่น คนอารีย์รักที่จะใช้การบอกเล่าเรื่องราวของย่านผ่านทางดีไซน์ และการอนุรักษ์กลิ่นอายของสถานที่เดิมที่กรุ่นความอบอุ่นในแบบเพื่อนบ้านมาสร้างเสน่ห์ให้กับร้าน เอกลักษณ์ดั้งเดิมนี้ถ่ายทอดผ่านทั้งทางสถาปัตยกรรม สิ่งแวดล้อมภายในพื้นที่เดิม และความโฮมมี่ในแบบอารี
กลางซอยสายลม 1 ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ Beaker and Bitter คาเฟ่และ Co-working Space ที่เก็บรักษาบรรยากาศและร่องรอยเดิมของพื้นที่จนเสมือนกับเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตของโรงงานยานิวยอร์ค เคมีเกิ้ล ซึ่งเปิดต้อนรับไลฟ์สไตล์ของผู้คนยุคใหม่ให้เข้ามาสร้างชีวิตใหม่ให้กับพื้นที่เดิม โดยภายในบริเวณเดียวกันของคาเฟ่ยังเป็นที่ตั้งของแท้งค์น้ำสูง 9 ชั้นในหน้าตาของอาคารหลังสูงที่สอดประสานไปกับทัศนียภาพของชุมชนได้อย่างกลมกลืน นับเป็นแลนด์มาร์กทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในย่าน
เลยจากร้านแรกมาอีกนิดที่ซอยศุภราช 1 กับร้านอาหาร อย่างเก่าก่อน ร้านอาหารตำรับไทยโบราณที่ตัวอาคารคงไออุ่นของบ้านอย่างเก่าก่อนเอาไว้ แต่ยังมีอีกจุดสำคัญที่หลายคนอาจไม่ทราบคือ หัวเสาที่ตั้งต้อนรับอยู่หน้าร้านคืออดีตหัวสะพานข้ามคลองบางซื่อที่เก็บรักษาไว้ในสภาพเดิมยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน และกลมกลืนไปกับทัศนียภาพโดยรอบของร้านเป็นอย่างดี เรียกว่าเป็นหมุดหมายเล็กๆ ที่อาจไม่ได้ถูกจารึกในประวัติศาสตร์ แต่ก็ย้ำเตือนความสำคัญของอดีตที่ก่อร่างมาเป็นปัจจุบันให้กับผู้คนที่ทราบเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
อย่างที่ทราบกันดีว่า ร้านอาหารและคาเฟ่หลายแห่งในย่านถูกรีโนเวตจากบ้านสไตล์โมเดิร์นซึ่งเป็นที่นิยมในยุคแรกเริ่มของย่าน เสน่ห์ของสถาปัตยกรรม รูปทรง งานตกแต่งอาคาร วัสดุ และริ้วรอยจากอดีตกลายมาเป็นร่องรอยที่บอกเล่าถึงคนยุคปัจจุบัน หลายร้านเติมบุคลิกใหม่ผ่านการต่อเติมพื้นที่ใหม่ของอาคาร หรือการจัดสรรพื้นที่ภายในแบบใหม่จากเดิมที่บ้านถูกแบ่งเป็นห้อง ให้กลายเป็นโอเพ่นสเปซรองรับการใช้งานในแบบพื้นที่สาธารณะมากขึ้น
Laliart
Coffee หรือ Lilou & Laliart ในซอยอารีย์สัมพันธ์ 10, Clay Bangkok
ซอยพหลโยธิน 2 และ Mitt Restaurant and Space ในซอยพิบูลวัฒนา 1
คือตัวอย่างของร้านที่ปรับปรุงใหม่มาจากบ้านโดยยังคงบรรยากาศและความอบอุ่นในแบบโฮมมี่เอาไว้ได้อย่างดี
โครงสร้างบ้านเดิมถูกรักษาเอาไว้ เติมองค์ประกอบใหม่ที่เป็นตัวเอง
พร้อมกับการเชื้อเชิญผู้คนให้เข้ามานั่งกินดื่มอย่างสบายใจจนแทบลืมเวลานอกร้าน(บ้าน)ไปเลย
อารีย์ยังมีอะไรให้คนรักการกิน ดื่ม สังสรรค์ให้ออกตามหาอีกมากมาย หลากหลาย และสนุกชนิดที่ว่าไม่มีที่สิ้นสุด ประสาทสัมผัสทั้งห้า รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส ถูกส่งต่อถึงหัวใจของผู้คนครบถ้วนผ่านความอร่อยและความคิดสร้างสรรค์ ความกลมกล่อมจากการผสมผสานผัสสะเหล่านี้ยิ่งเติมเสน่ห์อย่างมีชีวิตชีวาเฉพาะตัว อย่างอารี ในแบบอารีย์
นัดกันคราวหน้า
อย่าลืมไปหาอะไรกินที่อารีย์กัน :)

