OKMD

“พระเสด็จโดยแดนชล ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย”: การเสด็จถวายผ้าพระกฐินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ร.ศ. ๒๔๒

04 ตุลาคม 2024
|
778 read this
|
16 share this

            การทอดกฐินหรือการถวายผ้ากฐินเป็นการถวายทานที่เป็นกาลทานคือทานที่กำหนดช่วงเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เป็นพระพุทธานุญาตให้กรานกฐินและโปรดให้เป็นการสงฆ์ คือ เป็นสังฆกรรมสำหรับภิกษุทั้งหลายทั่วไป ในระยะเวลาภายหลังวันออกพรรษาแล้วหนึ่งเดือน คือช่วงตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 โดยผ้ากฐินนั้นจะเป็นผ้าใหม่ ผ้าเทียมใหม่ ผ้าเก่า หรือผ้าบังสุกุลก็ได้ แต่ผ้านั้นต้องพอทำไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่ง (ผ้าไตรจีวรของพระสงฆ์ มี 3 ผืน คือ สบง (ผ้านุ่ง) จีวร (ผ่าห่ม) และสังฆาฏิ (ผ้าซ้อนห่มหรือผ้าพาด)) (กรมการศาสนา, ม.ป.ป.)

            การทอดกฐินหรือการถวายผ้ากฐินในสังคมไทยในปัจจุบันนั้นแบ่งได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่ 

                1. พระกฐินหลวง คือ พระกฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เองหรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระราชินี พระราชโอรส พระราชธิดาเสด็จพระราชดำเนินทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ รวมทั้งพระกฐินที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ราชสกุล องคมนตรี หรือผู้ที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควรให้เสด็จฯ แทนพระองค์นำไปถวายยังพระอารามหลวงสำคัญ จำนวน 16 พระอาราม ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดอรุณราชวราราม วัดราชโอรสาราม วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดสุทัศนเทพวราราม วัดราชาธิวาส วัดมกุฏกษัตริยาราม วัดเทพศิรินทราวาส วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม วัดนิเวศธรรมประวัติ วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก 

                2. พระกฐินต้น คือ พระกฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง หรือพระกฐินที่พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จฯ ถวายวัดที่ไม่ได้เป็นวัดหลวงและไม่ได้เสด็จไปอย่างพระราชพิธี แต่เป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลส่วนพระองค์

                3. พระกฐินพระราชทาน คือ พระกฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ส่วนราชการ องค์กร หรือบุคคลที่สมควร ขอรับพระราชทานอัญเชิญไปถวายยังพระอารามหลวงต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 265 พระอาราม (มีรายชื่อตามบัญชีพระอารามหลวง)

                4. กฐินราษฎร์ คือ กฐินที่พุทธศาสนิกชนทั่วไปนำไปถวายแด่พระสงฆ์ที่จำพรรษาถ้วนไตรมาส ณ วัดใดวัดหนึ่งที่เป็นวัดราษฎร์ ซึ่งอาจเป็นจุลกฐินหรือมหากฐิน

            ตามโบราณราชประเพณี การเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินนั้น พระมหากษัตริย์จะเสด็จโดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารคหรือชลมารคไปยังพระอารามนั้น ๆ โดยปัจจุบันได้ปรับรูปแบบเป็นการเสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งแทน แต่ในบางโอกาสที่มีความสำคัญ พระมหากษัตริย์จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคไปถวายผ้าพระกฐิน อย่างในปีนี้ซึ่งเป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีขึ้นอย่างโบราณราชประเพณี ซึ่งในปัจจุบันหากมีการเสด็จถวายผ้าพระกฐินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคจะเสด็จพระราชดำเนินยังวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

            การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีและได้รับการรื้อฟื้นและสืบทอดมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน โดยจัดกระบวนเรือพระราชพิธีอย่างกระบวนพยุหยาตรากรีฑาทัพอย่างโบราณราชประเพณี แบ่งได้เป็น 2 รูปกระบวน คือ กระบวนพยุหยาตราใหญ่และกระบวนพยุหยาตราน้อย (บัญชา ศรชัย, เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี และจตุพร ศรีม่วง, 2567) โดยในกระบวนจะประกอบไปด้วย (1) เรือพระที่นั่ง 4 องค์ คือ เรือพระที่นั่งสุวรรณหงส์เป็นเรือพระที่นั่งทรง เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ (2) เรือพลับพลา คือ เรือพระที่นั่งสำหรับเปลี่ยนเครื่องทรงก่อนเสด็จจากเรือ (3) เรือเหล่าแสนยากร คือ เรือที่มีโขนเรือรูปสัตว์ต่าง ๆ เพื่อความสง่างามและน่าเกรงขาม ได้แก่ เรือเสือทยานชล เรือเสือคำรณสิงห์ เรืออสุรวายุภักษ์ เรืออสุรปักษี เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เรือครุฑเหินเห็จ เรือครุฑเตร็จไตรจักร เรือพาลีรั้งทวีป และเรือสุครีพครองเมือง (3) เรือคู่ชัก คือ เรือที่มีหน้าที่ชักลากเรือพระที่นั่งเมื่อน้ำเชี่ยวให้แล่นเร็วขึ้น ได้แก่ เรือเอกชัยเหินหาว และเรือเอกชัยหลาวทอง (4) เรือประตูหน้า คือ เรือนำขบวนหน้า ได้แก่ เรือทองขวานฟ้า และเรือทองบ้านบิ่น (5) เรือดั้ง คือ เรือที่ทำหน้าที่ป้องกันขบวนเรือ (6) เรือแซง คือ เรือที่ทำหน้าที่อารักขาพระมหากษัตริย์ สามารถแซงเรือในขบวนเข้ามาอารักขาได้ และ (7) เรือตำรวจ คือ เรือที่ทำหน้าที่เป็นองครักษ์ (สุณิสา เขตตะสิริ, 2563)

            ในรัชกาลปัจจุบัน รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว การพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินยังคงถือปฏิบัติอย่างอย่างราชประเพณี หากแต่ไม่เคยมีการเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคมาก่อน ซึ่งในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในงานพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 27 ตุลาคม 2567 นี้ นับเป็นครั้งแรกในรัชสมัยและเป็นการเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคเป็นครั้งที่ 2 ในรัชสมัย ภายหลังจากการเสด็จเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562

            สำหรับกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน งานพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบที่จะเกิดขึ้นนี้ จัดรูปแบบขบวนเรือต้องตามโบราณราชประเพณี โดยใช้เรือพระราชพิธี 52 ลำ กระบวนมีความยาว 1,200 เมตร กว้าง 90 เมตร ใช้กำลังพลประจำเรือในขบวนเรือพระราชพิธี 2,200 นาย จัดขบวนเป็น 5 ริ้ว 3 สาย คือ

                    - ริ้วสายกลาง เป็นริ้วเรือสายสำคัญ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง 4 ลำ ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ รวมถึงมีเรืออีเหลือง เรือกลองนอก เรือแตงโม ซึ่งเป็นเรือของผู้บัญชาการขบวนเรือ เรือกลองใน พร้อมด้วยเรือตำรวจนอก และเรือตำรวจใน

                    - ริ้วสายใน ขนาบข้าง ฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของริ้วสายกลาง ได้แก่ เรือทองขวานฟ้าและเรือทองบ้าบิ่นเป็นเรือประตูหน้า เรือเสือทยานชลและเรือเสือคำรณสินธุ์เป็นเรือพิฆาต เรือรูปสัตว์ 8 ลำ และปิดท้ายสายในด้วย เรือเอกไชยเหินหาวและเรือเอกไชยหลาวทองซึ่งเป็นเรือคู่ชัก

                    - ริ้วสายนอก อยู่ทางด้านซ้ายและขวาของริ้วสายใน ประกอบด้วยเรือดั้งและเรือแซง สายละ 14 ลำ (กองทัพเรือ, 2567)

            กระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินคราวนี้ เริ่มขบวนที่ท่าวาสุกรี เคลื่อนกระบวนไปตามลำน้ำเจ้าพระยาถึงวัดอรุณราชราชวรารามราชวรมหาวิหาร ระยะทาง 4.2 กิโลเมตร ระหว่างเคลื่อนกระบวนเรือจะมีการขับกาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติ จำนวน 4 บท ประกอบด้วย บทที่ 1 สรรเสริญพระบารมี บทที่ 2 ชมเรือกระบวน บทที่ 3 บุญกฐิน และบทที่ 4 ชมเมือง ประพันธ์โดย พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย (หมายกำหนดการ, 2567)


ภาพที่ 1 ริ้วขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ

ที่มาภาพ: https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/38265.pdf  

ภาพที่ 2 การจัดขบวนเรือพระราชพิธี ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ

ที่มาภาพ: https://www.amarintv.com/news/detail/222000  


ภาพที่ 3 เส้นทางเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ

ที่มาภาพ: https://www.amarintv.com/news/detail/222000  


            หมายกำหนดการ 

            วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2567 สำนักพระราชวังและเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ จัดตกแต่งสะพานฉนวนประจำท่าวาสุกรี ท่าวัดอรุณราชวราราม และบริเวณท้องน้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นเส้นทาง และเตรียมกำลังพลไว้พร้อมทุกตำแหน่งหน้าที่

            เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เทียบสะพานฉนวนท่าวาสุกรี เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เป็นเรือพระที่นั่งรอง

            เวลา 15 นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังท่าวาสุกรี ณ ที่นั้น องคมนตรี นายกรัฐมนตรี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เฝ้า ฯ รับเสด็จ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะผู้บัญชาการขบวนเสด็จพระราชดำเนินทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบบังคมทูลพระกรุณารายงานจำนวนเรือและกำลังพล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ขณะนั้นกองทหารเกียรติยศถวายความเคารพ ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ผู้ควบคุมเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์กราบบังคมทูลพระกรุณารายงานบัญชีกำลังพลประจำเรือ นายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเคลื่อนขบวนพยุหยาตรา เมื่อพร้อมแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เคลื่อนขบวนพยุหยาตราทางชลมารคออกจากท่าวาสุกรี ไปตามชลวิถีท้องน้ำเจ้าพระยา เจ้าพนักงานประโคมกระทั่งมโหระทึก สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่และกลองชนะประจำเรือพระราชพิธีประโคมขึ้นพร้อมกัน ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเคลื่อนไปตามลำดับ กองทหารเกียรติยศถวายความเคารพ ดุริยางค์บรรเลงเพลงมาร์ชธงชัยเฉลิมพล

            เมื่อเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชถึงวัดอรุณราชวราราม เทียบเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชที่สะพานฉนวนน้ำหน้าพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม เจ้าพนักงานพระราชพิธีเชิญผ้าพระกฐินจากบุกษกไปยังพระอุโบสถแล้ว เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เข้าเทียบท่าฉนวนน้ำหน้าวัดอรุณราชวรารามตรงพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จขึ้นจากเรือพระที่นั่ง กองทหารเกียรติยศถวายความเคารพ ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระอุโบสถ เสด็จเข้าพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับผ้าไตรจากเจ้าพนักงานพระราชพิธี เสด็จ ฯ ไปถวายผ้าพระกฐิน ณ ที่ชุมนุมสงฆ์ตามพิธีกรรมราชประเพณีเสร็จแล้ว เสด็จออกจากพระอุโบสถไปถวายราชสักการะพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แล้วประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินกลับพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต กองทหารเกียรติยศถวายความเคารพ ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี (หมายกำหนดการ, 2567)

รายละเอียดหมายกำหนดการ ริ้วขบวนพยุหยาตราทางชลมารค และกาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติ: https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/38265.pdf  

            ทั้งนี้ วันเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน วันอาทิตย์ ที่ 27 ตุลาคม 2567 ประชาชนสามารถเฝ้ารอรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้ตลอดสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 8 - วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร 



รายการอ้างอิง

กรมการศาสนา. (ม.ป.ป.). การทอดกฐิน. https://katin.dra.go.th/history/index  

กองทัพเรือ. (2567). ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธานเปิดการฝึก พร้อมให้โอวาทกำลังพลฝีพาย ๒,๒๐๐ นาย ก่อนซ้อมย่อยเป็นริ้วขบวนในแม่น้ำเจ้าพระยา เต็มรูปขบวน ๕๒ ลำ เป็นวันแรก. https://www.navy.mi.th/fplnuirk1qtv  

บัญชา ศรชัย, เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี และจตุพร ศรีม่วง. (2567). การศึกษากระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในสมัยต่าง ๆ. วารสาร มจร. อุบลปริทรรศน์, 9(1), 399 - 406.

สุณิสา เขตตะสิริ. (2563). การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562. วารสารสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ, 11(1), 1 - 12.

หมายกำหนดการ พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗. (24 กรกฎาคม 2567). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 141 ตอนที่ 48 ข. หน้า 1 - 29. https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/38265.pdf  


ภาพปก: ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคคราวเสด็จเลียบพระนคร พระราชพิธีบรมราชภิเษก 2562

ที่มาภาพ: https://www.thairath.co.th/news/royal/1724886?gallery_id=4  


Ask OKMD AI